วันอังคารที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2558

การทูตพุทธธรรม:เมื่อโมดีประกาศ “พุทธคยา”เป็น“เมืองหลวงโลกแห่งศาสนาพุทธ”

วันพฤหัสบดี ที่ 10 กันยายน 2558 




                ทันทีที่ได้ยินนายกฯนเรนธรา โมดีของอินเดียประกาศจะพัฒนาสังเวชนียสถาน “พุทธคยา” ให้เป็น “เมืองหลวงพุทธศาสนาของโลก” มื่อเช้าวันเสาร์ที่ 5 กันยายนที่ผ่านมา, ผมก็เห็นความชาญฉลาดทั้งด้านการทูต, การเมืองและสังคมของผู้นำชาวภารตะคนนี้โดยพลัน ยิ่งเมื่อเขาเชิญชวนนายกฯชินโซะ อาเบะแห่งญี่ปุ่นมาร่วมสร้าง “นวัตกรรม” แบบ “การทูตพุทธธรรม” ก็ยิ่งเห็นก้าวสำคัญของอินเดียในอันที่จะเล่นบทเป็นผู้นำด้านนี้อย่างที่ไม่มีใครมาแข่งขันได้ด้วย วันที่นายกฯโมดีมาเปิดงานระดมความคิดเห็นของผู้นำศาสนาพุทธและฮินดูเกือบร้อยคนจากทั่วโลกที่นิวเดลฮีในหัวข้อ “Global Hindu-Buddhist Initiative on Conflict Avoidance and Environment Consciousness” คือวันที่ 3 กันยายนเป็นวันเดียวกับที่นายกฯสีจิ้นผิงของจีนจัดงานสวนสนามครั้งใหญ่ที่กรุงปักกิ่งเพื่อรำลึกถึงชัยชนะของจีนต่อญี่ปุ่นเมื่อ 70 ปีก่อน สองภาพดูเหมือนจะขัดกันโดยสิ้นเชิง ผู้นำอินเดียเชิญชวนผู้นำญี่ปุ่นใช้ศาสนาหาทางป้องกันความขัดแย้งแทนที่จะรอให้เกิดความรุนแรงแล้วจึงจะหาทางออก ขณะที่ผู้นำจีนตอกย้ำถึงแสนยานุภาพทางทหารอันมีความหมายโอนเอียงไปทางด้านสงคราม แน่นอน โมดีคงไม่ได้ตั้งใจจะแสดงปาฐกถาเรื่องศาสนาและสันติภาพประสานเสียงกับอาเบะ ณ วันเดียวกับที่สีจิ้นผิงเน้นเรื่องชัยชนะในสงคราม แต่ก็ไม่อาจหลบหลีกการเปรียบเทียบมหาอำนาจเอเซียทั้งสามในสองกรณีนี้ได้ ผู้จัดงานที่อินเดียคือมูลนิธิ Vivekananda International Foundation ร่วมกับ Tokyo Foundation ยืนยันว่าได้เชิญผู้นำจิตวิญญาณด้านศาสนาพุทธมาร่วมในการเสวนาครั้งใหญ่ครั้งนี้ด้วย แต่ไม่มีคำตอบจากปักกิ่ง น่าตั้งข้อสังเกตว่านายกฯโมดีริเริ่มแนวทาง Buddhist Diplomacy ขณะเดียวกับที่จีนชูธงเส้นทางสายไหมยุคใหม่คือ One Belt, One Road (ผมกำลังเตรียมตัวจะไปร่วมเสวนาเรื่องนี้กับฝ่ายจีนในสัปดาห์หน้านี้) ความฉลาดเฉลียวของโมดีคือการใช้ศาสนามาเป็น “ความริเริ่มทางการทูต” เพื่อให้อินเดียมีภาพของการเป็นผู้นำเรื่องสันติภาพ, การป้องกันความรุนแรงและการก่อการร้ายข้ามชาติ, รวมไปถึงการดึงให้ประเทศทั้งหลายมาสานสัมพันธ์กันในมิติทางศาสนา ผู้นำคนอื่นมุ่งมองการเมือง, เศรษฐกิจ, ความมั่นคง แต่โมดีใช้ความเป็นที่เกิดของศาสนาพุทธและความเป็นชาติฮินดูผสมผสานให้เป็น “หัวหอก” แห่งแนวทางสันติ 

                ศาสนากับการทูต...ดูเหมือนแยกออกจากกัน, แต่ความจริงเป็นคนละเรื่องเดียวกัน อยู่ที่วิสัยทัศน์ของผู้นำในอันที่จะ “ออกแบบ” นโยบายใช้ “ทรัพยากร” ทุก ๆ ด้านเพื่อบรรลุเป้าหมายเพื่อผลประโยชน์แห่งชาติ นายกฯโมดีใช้ “มรดกประวัติศาสตร์”ด้านพุทธศาสนามาเป็น “จุดแข็ง” และ “จุดขาย” ที่คนอื่นไม่มี หรือมีแต่ไม่สามารถถักทอให้เป็นแนวทางที่บรรดาลใจตั้งแต่ชาวบ้านไปถึงประชาคมโลกได้อย่างน่าทึ่ง ผู้นำอินเดียบอกว่า “มิติแห่งอารยธรรมและวัฒนธรรม” ที่ยืนยาวมาเป็นพัน ๆ ปีของอินเดียย่อมสามารถนำมาซึ่งแนวทางการป้องกันความขัดแย้งแห่งศตวรรษที่ 21 ให้สัมฤทธิ์ผลได้หากยึดมั่นในหลักแห่งศีลธรรมจรรยา, ละเว้นการปฏิบัติชั่วมุ่งทำความดี โมดีใช้ความเป็นลูกชาวบ้าน นักการเมืองคิดนอกกรอบ และความเลื่อมใสในศาสนามาเป็นอาวุธทางการทูตได้อย่างน่าวิเคราะห์ยิ่ง เพราะหากศาสนาพุทธช่วยให้ปัจเจกชนทำดีละชั่วได้ ก็ย่อมจะสามารถเป็นหนทางแห่งการ “พ้นทุกข์” ของ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้เช่นกัน.


แหล่งข่าว : http://www.oknation.net/blog/blackcheepajornlok/2015/09/10/entry-1

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น